Blog

Payments · 30 มิถุนายน 2567

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีการเงินในมุมนักพัฒนากับรองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ Opn

Payments

Interview - Ambo_TH.png

เทคโนโลยีด้านการเงินกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เราได้เชิญคุณ Amborish Acharya รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีจาก Opn มาแชร์เทรนด์เทคโนโลยีด้านเพย์เมนต์ในมุมมองของนักพัฒนาโปรแกรมที่มีประสบการณ์ในวงการมาอย่างยาวนาน

คุณ Amborish Acharya เริ่มเข้าวงการฟินเทคในปี 2548 โดยทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพในบังกาลอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารความเสี่ยงโดยใช้โมเดลทางสถิติและคณิตศาสตร์ขั้นสูง ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เขาได้สั่งสมประสบการณ์ในหลากหลายด้าน ทั้งออนไลน์แบงก์กิ้ง, โมบายแบงก์กิ้ง, NFC, การรับชำระเงินแบบฝังตัวเข้ากับระบบหลัก (Embedded Payment), บริการประมวลผลธุรกรรม (Acquiring), การออกบัตร (Issuing), และสินเชื่อ ตั้งแต่เริ่มทำงานที่ Opn คุณ Amborish ได้มีบทบาทสำคัญในโปรเจ็กต์ต่างๆ ทั้ง PayFac-as-a-Service, Acquiring-as-a-Service, Issuing-as-a-Service ไปจนถึงการพัฒนาระบบการรับชำระเงินให้รองรับจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น (Scalability)

ต่อไปนี้เป็นคำถามสัมภาษณ์และคำตอบของคุณ Amborish เกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีในวงการเพย์เมต์และการปรับตัวของทีมนักพัฒนาตามเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีการชำระเงินในปัจจุบัน

ผู้สัมภาษณ์: เทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในวงการการชำระเงินมีอะไรบ้าง

Amborish: ก็มีเทรนด์ที่น่าจับตามองอยู่หลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเทรนด์เหล่านี้จะถูกขับเคลื่อนโดยพัฒนาการทางเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และกฎหมายหรือข้อบังคับที่เปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ที่ผมคิดว่าจะมีบทบาทสำคัญในอนาคตนั้นมีดังนี้

เทรนด์เทคโนโลยีการชำระเงินในอนาคต

  • การชำระเงินแบบดิจิทัลและแบบไร้สัมผัส: โมบายวอลเล็ตอย่าง Google Pay, Apple Pay, และ TrueMoney Wallet กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเองก็มีจำนวนผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากใช้งานง่ายและมีค่าใช้จ่ายต่ำ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปริมาณธุรกรรมการโอนและชำระเงินผ่านบริการพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นถึง 179.67% ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565

  • คริปโทเคอร์เรนซี: Bitcoin และ Ethereum ได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับองค์กรและผู้ให้บริการชำระเงิน และสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ก็อาจเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบธนาคารและการชำระเงินแบบดั้งเดิม

  • การยืนยันตัวตนแบบไบโอเมตริก: การยืนยันตัวตนด้วยการสแกนลายนิ้วมือ หน้า หรือฝ่ามือ กำลังได้รับความนิยมและเพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงินขึ้นไปอีกระดับ เมื่อไม่นานมานี้ Amazon ได้เปิดตัวเทคโนโลยีการสแกนฝ่ามือเพื่อชำระเงินให้ลูกค้าในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการยกระดับการชำระเงินแบบไม่ต้องพกเงินสด ให้กลายเป็นการชำระเงินแบบไม่ต้องพกอะไรเลย

  • AI และแมชชีนเลิร์นนิง: ในปัจจุบันมีการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ในการตรวจสอบการทุจริตกันมากขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจจับและรับมือกับธุรกรรมที่น่าสงสัยได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ AI ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถทำการตลาดได้ดียิ่งขึ้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

  • การชำระเงินผ่าน IoT: พัฒนาการด้าน IoT ช่วยให้ผู้ใช้สามารถชำระเงินได้อย่างไร้รอยต่อผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต จากการวิจัยของ Introspective Market Research คาดว่าตลาดการชำระเงินผ่าน IoT ทั่วโลกจะเติบโตจาก 258 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เป็น 14,886 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573

นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์ที่สำคัญอื่นๆ อย่างเช่น การแชร์ข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทางการเงิน (Open Banking), การชำระเงินข้ามพรมแดน (Cross Border Payment), และการรับชำระเงินแบบฝังตัวเข้ากับระบบหลัก (Embedded Payment)

ผู้สัมภาษณ์: ในขณะนี้เทรนด์การพัฒนาโซลูชันแบบโมดูลาร์กำลังมาแรงในหลายธุรกิจ ในบริบทของวงการเพย์เมนต์ คุณจะอธิบายความหมายของเทคโนโลยโมดูลาร์ว่าอย่างไร

Amborish: การใช้เทคโนโลยีโมดูลาร์ในการชำระเงินคือการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ในระบบการชำระเงิน (หรือที่เรียกว่าโมดูล) ให้สามารถทำงานแยกกันต่างหากได้และนำไปใช้กับโมดูลอื่นๆ ได้อย่างราบรื่น เหมือนกับการสร้างบล็อก LEGO ที่สามารถนำมาต่อกันเป็นบริการต่างๆ ได้ตามความต้องการของธุรกิจ วิธีนี้ช่วยให้โซลูชันการชำระเงินมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ และมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนของการใช้เทคโนโลยีโมดูลาร์คือการเปลี่ยนจากการพัฒนาโซลูชันแบบรวมกันหนึ่งเดียวเป็นมาเป็นแบบไมโครเซอร์วิส ซึ่งเป็นการแยกแอปพลิเคชันออกเป็นแต่ละฟังก์ชันที่สามารถทำงานแยกกันได้ ถ้านำเทคโนโลยีโมดูลาร์มาใช้ในระบบการชำระเงิน จะทำให้ระบบสามารถรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนให้ตอบรับความต้องการของธุรกิจที่เปลี่ยนไปได้อีกด้วย

ผู้สัมภาษณ์: ช่วยยกตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีโมดูลาร์มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การชำระเงินของเราหน่อยได้ไหม

Amborish: ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Opn ได้เปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนามาเป็นแบบโมดูลาร์เพื่อช่วยให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้ Adapter Pattern ในการออกแบบช่วยให้ทีมนักพัฒนาของเราเชื่อมต่อระบบกับธนาคารใหม่ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนระบบแบ็กเอนด์ตามข้อกำหนดของธนาคารแต่ละแห่งได้อีกด้วย นอกจากนี้ เรายังใช้เทคโนโลยีโมดูลาร์ในกระบวนการออนบอร์ดร้านค้าย่อยในโซลูชัน PayFac-as-a-Service ของเรา ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนขั้นตอนได้ง่ายและร่นระยะเวลาเมื่อเทียบกับการพัฒนาระบบใหม่ทั้งหมด

ข้อดีในการใช้เทคโนโลยีโมดูลาร์มีดังนี้

  • ร่นระยะเวลาในการพัฒนา: ธุรกิจสามารถนำโมดูลต่างๆ มาต่อกันเหมือนกับบล็อก LEGO เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์

  • ประหยัดค่าใช้จ่าย: เทคโนโลยีโมดูลาร์ช่วยลดทรัพยากรนักพัฒนาที่ต้องใช้ในการพัฒนาและดูแลระบบ

  • ดูแลระบบได้ง่ายขึ้น: โมดูลที่แยกจากกันต่างหากช่วยให้สามารถระบุปัญหาและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบโดยรวมสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์ในการก้าวทันเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ

ผู้สัมภาษณ์: เรามีวิธีการอะไรบ้างในการช่วยให้ทีมนักพัฒนาตามทันเทคโนโลยีใหม่ๆ และเทรนด์ต่างๆ ในอุตสาหกรรมเพย์เมนต์

Amborish: เราใช้กลยุทธ์หลายอย่างเพื่อให้ทีมนักพัฒนาได้อัปเดตความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ และเทรนด์ในอุตสาหกรรมเพย์เมนต์ โดยเราจะเน้นไปที่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การปรับตัวอยู่เสมอ และการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ทีม Scrum ก็จะมีเซสชันเทรนนิ่งของทีม ทีม QA มีการจัดเวิร์กช็อปอย่างสม่ำเสมอ และทีม Infrastructure ก็จะมีเซสชันเทรนนิ่งกับ AWS และบริษัทอื่นๆ นอกจากนี้ เรายังมีโครงการทดลองใช้แนวคิด Domain-Driven Design และการใช้เครื่องมือ AI ขั้นสูงอย่าง Bedrock ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสนับสนุนให้พนักงานสอบใบรับรองต่างๆ เช่น AWS Solution Architect ซึ่งเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมของเรา รวมถึงเข้าร่วมการประชุมและงานสัมนาเกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีใหม่อีกด้วย

ผู้สัมภาษณ์: ทีมนักพัฒนาใช้แนวทางอะไรบ้างในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์

Amborish: การส่งเสริมนวัตกรรมและประสิทธิภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องใช้แนวทางที่หลากหลายไปพร้อมๆ กัน ทั้งการส่งเสริมวิธีการทำงานร่วมกันที่เหมาะสม การสร้างวัฒนธรรมทีมที่ช่วยเหลือกัน รวมถึงการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางที่เราใช้ยังครอบคลุมถึงการใช้กรอบการทำงานอย่างเช่น Scrum ในการพัฒนาแบบแบ่งรอบ (Iterative Development) และการใช้ Kanban ในการจัดการกระบวนการทำงานเพื่อความต่อเนื่อง โดยเราจะเน้นไปที่การพัฒนา MVP เพื่อตรวจสอบแนวคิดและรับความคิดเห็นจากผู้ใช้ตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ เรายังใช้เครื่องมือ IaC เช่น Terraform ในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ทำงานแบบอัตโนมัติเพื่อให้มั่นใจว่าระบบสามารถทำงานได้อย่างสม่ำเสมอและรองรับการขยายขนาดได้

ผู้สัมภาษณ์: ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าตอนนี้ทางทีมนักพัฒนากำลังทำโปรเจ็กต์อะไรที่น่าสนใจอยู่บ้าง

Amborish: ตอนนี้ทีมของเรากำลังโฟกัสไปที่โปรเจ็กต์ Payment-Gateway-as-a-Service ซึ่งมีกำหนดการที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการ Underwriting ให้เป็นอัตโนมัติและการปรับปรุงกระบวนการสร้างใบแจ้งยอด ส่วนทีมแพลตฟอร์มกำลังออกแบบระบบใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการขยายระบบและลดการเกิดข้อขัดข้อง นอกจากนี้ เรากำลังทำ Proof of Concept (POC) สำหรับการใช้เครื่องมือ AI เช่น Co-Pilot ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

สรุป: มุมมองเกี่ยวกับอนาคตของการชำระเงินในโลกดิจิทัล

ผู้สัมภาษณ์: มีอะไรอยากพูดส่งท้ายเกี่ยวกับบทบาทของคุณในฐานะรองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทเพย์เมนต์หรือไม่ คุณคิดว่าวงการนี้มีอะไรที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ บ้าง

Amborish: จากประสบการณ์ของผมในอุตสาหกรรมเพย์เมนต์ สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญคือความซับซ้อนของอุตสาหกรรมนี้ เรามีหน้าที่ดูแลข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอย่างเช่นข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้า รวมถึงต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของลูกค้าที่แตกต่างกันไป เราจึงต้องให้ความสำคัญกับทำความเข้าใจว่าลูกค้าใช้วิธีการชำระเงินต่างๆ อย่างไร ทั้งในรูปแบบดิจิทัลและเงินสด วิสัยทัศน์ของเราคือการเปิดประตูสู่ธุรกิจดิจิทัลสำหรับทุกคน ดังนั้น เราจึงพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้มากขึ้น

ในฐานะรองประธานฝ่ายเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าผมมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลแบบเต็มตัว ทุกผลิตภัณฑ์ที่เราพัฒนาขึ้นมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือการช่วยให้ผู้ใช้สามารถชำระเงินในโลกดิจิทัลได้ง่ายขึ้น และผมก็คิดว่าเราก็ทำมันได้ดีโดยเห็นได้จากการที่ผลิตภัณฑ์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตประจำวันของผู้คนมากมาย ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ และผมก็อยากจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ใน Opn ซึ่งผมมั่นใจว่าเราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อีกมากมายในอนาคต


More from Opn

เปรียบเทียบ Online Direct Debit vs โมบายแบงก์กิ้ง วิธีการชำระเงินแบบใดที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ

6 ตุลาคม 2567

เปรียบเทียบ Online Direct Debit vs โมบายแบงก์กิ้ง วิธีการชำระเงินแบบใดที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ
แนะนำ Payment Links+ โซลูชันใหม่จาก Opn Payments

29 สิงหาคม 2567

แนะนำ Payment Links+ โซลูชันใหม่จาก Opn Payments
เจาะลึกเบื้องหลังระบบเสถียรแม้ช่วงพีกกับ Director of Infrastructure ของ Opn Payments

30 กรกฎาคม 2567

เจาะลึกเบื้องหลังระบบเสถียรแม้ช่วงพีกกับ Director of Infrastructure ของ Opn Payments

Subscribe to receive the latest updates from Opn

Protected by reCAPTCHA

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อวิเคราะห์การใช้และปรับการใช้งานให้เหมาะกับท่าน เมื่อกดยอมรับหรือเข้าชมเว็บไซต์ต่อ เราถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุกกี้ของเว็บไซต์ อ่านนโยบายความเป็นส่วนตัว