Blog

Payments · 28 กันยายน 2566

เพย์เมนต์เกตเวย์ 101: สรุปทุกสิ่งที่ธุรกิจไทยควรรู้ก่อนเริ่มรับชำระเงินออนไลน์

Payments

Thailand

Payment Gateway 101_OG_TH_2

ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และจากผลสำรวจของ Statista พบว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 80% และเพิ่มขึ้นเป็น 85% ในปี 2571

นอกจากนั้น ข้อมูลจาก The Mastercard New Payments Index 2022 ยังเผยถึงเทรนด์การเปลี่ยนไปชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลของผู้บริโภคในไทย ซึ่งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีตัวเลขการชำระเงินแบบดิจิทัลเพย์เมนต์สูงถึง 94%

เมื่อผู้บริโภคหันมาชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านค้าอีคอมเมิร์ซในไทยจำเป็นต้องปรับตัวตามตลาดให้ทัน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับเพย์เมนต์เกตเวย์ (payment gateway) เพื่อสร้างประสบการณ์ชำระเงินที่ราบรื่น ไร้รอยต่อ (seamless) และเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน

แต่พออ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า เพย์เมนต์เกตเวย์คืออะไร? และทำไมจึงมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ? บทความนี้จะมาช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเพย์เมนต์เกตเวย์ พร้อมสรุปประเด็นที่สำคัญต่อการออกสตาร์ทสู่ความสำเร็จของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย

เพย์เมนต์เกตเวย์คืออะไร?

เพย์เมนต์เกตเวย์​ (หรือ ระบบรับชำระเงิน) คือ แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับชำระเงินออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ เช่น บัตรเครดิต/เดบิต อีวอลเล็ท และการชำระเงินผ่านมือถือ เป็นต้น

การใช้เพย์เมนต์เกตเวย์ทำให้ธุรกิจร้านค้าไม่ต้องเผชิญความยุ่งยากในการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการการชำระเงิน (payment provider) เองโดยตรง และยังมีประโยชน์อย่างมากในส่วนของการจัดการระบบงานหลังบ้านที่ซับซ้อน เช่น บริการแก่ผู้รับบัตร (acquiring) สำหรับธนาคาร และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายบัตร เป็นต้น

นอกจากนั้น การเชื่อมต่อกับเพย์เมนต์เกตเวย์ยังช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการชำระเงินผ่านขั้นตอนการเข้ารหัสข้อมูล (encryption) การแปลงข้อมูลเป็นโทเคน (tokenization) และเทคโนโลยีป้องกันการทุจริต เพื่อปกป้องข้อมูลบัตรของลูกค้า และลดความเสี่ยงการปฏิเสธการชำระเงิน รวมถึงแนวโน้มการทุจริตอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ขั้นตอนการรับชำระเงินผ่านเพย์เมนต์เกตเวย์

Payment Gateway 101_Blog artwork_TH_1.png

เพย์เมนต์เกตเวย์ถือเป็นองค์ประกอบชิ้นสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะนี่คือระบบที่เป็นคนกลางในการรับ-โอนเงินระหว่างลูกค้ากับร้านค้า

สำหรับหน้าที่หลักของเพย์เมนต์เกตเวย์ คือ ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบัตรลูกค้า เพื่อลดความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลบัตรลูกค้า แม้ว่าจะต้องชำระเงินผ่านทางเว็บไซต์ของร้านค้าก็ตาม ที่สำคัญ ธุรกิจร้านค้าไม่จำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงในการจัดเก็บข้อมูลบัตรอีกด้วย

โดยขั้นตอนการรับชำระเงินผ่านเพย์เมนต์เกตเวย์จะเริ่มจากการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบัตรและความสามารถในการชำระเงินของลูกค้า จากนั้นเมื่อผ่านการรับรองแล้ว ทางผู้ขายจะได้รับการแจ้งเตือน เพื่อให้ยืนยันรายการการชำระเงิน และในที่สุด ร้านค้าจะได้รับเงินผ่านบัญชีของเพย์เมนต์เกตเวย์ ซึ่งโอนเข้าบัญชีธนาคารของร้านค้า

จากขั้นตอนการประมวลผลธุรกรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการเชื่อมต่อกับเพย์เมนต์เกตเวย์จะช่วยให้ร้านค้าบริหารจัดการระบบรับชำระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

ทำไมเพย์เมนต์เกตเวย์จึงสำคัญต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ?

Payment Gateway 101_Blog artwork_TH_2.png

ข้อมูลตัวเลขดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตและดีมานต์ของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย โดยลูกค้ายังมาพร้อมความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นต่อคุณภาพประสบการณ์การชำระเงินออนไลน์ที่พวกเขาจะได้รับอีกด้วย

ที่สำคัญ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในไทยควรต่อยอดประโยชน์ที่ได้รับจากระบบรับชำระเงินของเพย์เมนต์เกตเวย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราจะไฮไลท์ประโยชน์ 3 ข้อของเพย์เมนต์เกตเวย์ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม ได้แก่:

1. ความสะดวกสบาย

ปัจจุบันมีอัตราการละทิ้งคำสั่งซื้อ (cart abandonment) เฉลี่ยอยู่ที่ 70% โดยคาดว่า 8% ของปัญหานี้เกิดขึ้นระหว่างการชำระเงิน เนื่องจากลูกค้าต้องเจอกับขั้นตอนการจ่ายเงินที่ยุ่งยากซับซ้อน มีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หรือไม่มีช่องทางการชำระเงินให้เลือกมากนัก

หากธุรกิจของคุณกำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่ เพยเมนต์เกตเวย์ถือเป็นโซลูชันการชำระเงินครบวงจรที่จะช่วยตอบโจทย์ให้ธุรกิจและลูกค้าของคุณได้ ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีบนหน้าเช็คเอาท์ พร้อมจัดหาช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เดบิต ดิจิทัลวอลเล็ท และอื่นๆ อีกมากมาย

เพย์เมนต์เกตเวย์ยังมีส่วนสำคัญในการลดข้อจำกัดเรื่องช่องทางการชำระเงินที่ธุรกิจร้านค้าส่วนใหญ่มักจะต้องพบเจอ ส่งผลให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น และมีความพึงพอใจในการใช้บริการมากขึ้น จนเกิดการกลับมาซื้อซ้ำและมีผลตอบรับในเชิงบวกต่อแบรนด์

2. รับชำระเงินแบบไร้รอยต่อ (Seamless)

หนึ่งในสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจละทิ้งตะกร้า คือ ขั้นตอนการชำระเงินที่ยุ่งยากและต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น การใช้งานเพย์เมนต์เกตเวย์บนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซจะช่วยให้ธุรกิจสามารถส่งมอบประสบการณ์ชำระเงินที่ราบรื่น เหนือความคาดหมาย โดยลูกค้าจะสามารถเลือกบันทึกบัตร (save card) สำหรับใช้ในการชำระเงินครั้งต่อไป ด้วยเทคโนโลยีการแปลงข้อมูลบัตรเป็นโทเคน (tokenization) ทำให้ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ภายในคลิกเดียวและ ไม่ต้อง redirect ไปยังหน้าเว็บอื่น

นอกจากนั้น ธุรกิจที่ใช้งานเพย์เมนต์เกตเวย์ยังสามารถปรับแต่งขั้นตอนการชำระเงิน (checkout flow) ได้ตามความต้องการเฉพาะของธุรกิจ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ด้วยการส่งมอบประสบการณ์ที่ลูกค้าจะพึงพอใจสูงสุด โดยคุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทรนด์การตลาดแบบ personalization สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ที่นี่

3. มาตรฐานความปลอดภัยที่ดีกว่า

จากข้อมูลสถิติล่าสุดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (หรือ ETDA) พบว่าในปี 2565 มีเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์สูงถึง 59,794 ราย โดยมีประเด็นเรื่องการซื้อขายออนไลน์ผ่านอีคอมเมิร์ซถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุด ดังนั้น ความปลอดภัยและระบบที่สามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย

สำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมในการชำระเงินที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับลูกค้า ธุรกิจจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับเพย์เมนต์เกตเวย์ที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย ดังนี้

  1. มาตรฐานความปลอดภัยข้อมูลระดับสากล PCI DSS

  2. มาตรฐานความปลอดภัยในการชำระเงินด้วย 3-D Secure

มาตรฐานความปลอดภัยเหล่านี้คืออะไร? หากจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย คือ กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อหรือจัดเก็บข้อมูลบัตรนั้น ตามกฎหมายระบุว่า ธุรกิจจำเป็นต้องผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยข้อมูลระดับสากล PCI DSS เพื่อป้องกันการถูกขโมยหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับข้อมูลบัตรของลูกค้า

นอกจากนั้น ร้านค้าสามารถลดความเสี่ยงในการทุจริตหรือฉ้อโกง ด้วยการเปิดใช้งานการตรวจสอบผ่านรหัส OTP ที่มีอยู่ในฟีเจอร์ 3-D Secure เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำธุรกรรมออนไลน์ของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจดำเนินการจัดหาฟีเจอร์ความปลอดภัยข้างต้นเอง อาจต้องกินระยะเวลานานและใช้ต้นทุนที่มีราคาค่อนข้างแพง ส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่เลือกเชื่อมต่อระบบเข้ากับเพย์เมนต์เกตเวย์แทน เพราะมีระบบจัดการข้อมูลบัตรที่ปลอดภัย ใช้งานได้สะดวกสบาย และช่วยลดปัญหาเรื่องการปฏิเสธการชำระเงินและการฉ้อโกงผ่านบัตรเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากธุรกิจของคุณกำลังสนใจใช้งานฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยสำหรับการชำระเงิน — สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลกับทีมของ Opn Payments ได้เลย

ธุรกิจของคุณควรเลือกใช้เพย์เมนต์เกตเวย์แบบไหนดี?

Payment Gateway 101_Blog artwork_TH_3.png

สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก:
เชื่อมต่อกับระบบธนาคารแบบดั้งเดิม

ร้านค้าขนาดเล็กสามารถเลือกวิธีการโอนเงินผ่านระบบธนาคารแบบดั้งเดิมเป็นช่องทางการชำระเงินหลัก โดยในขั้นการตอนโอนเงิน ระบบจะส่งลูกค้าไปยังหน้าเว็บของธนาคาร (redirect) เพื่อยืนยันการชำระเงิน

ทั้งนี้ วิธีการโอนเงินผ่านธนาคารก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย โดยจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร และลูกค้าไม่สามารถกดบันทึกข้อมูลบัตร สำหรับการซื้อซ้ำในครั้งต่อไป ทำให้ลูกค้าต้องคอยกรอกข้อมูลใหม่ทุกครั้งตอนชำระเงิน

โดยข้อดีของระบบรับชำระเงินแบบนี้ คือ การติดตั้งที่ง่ายและรวดเร็ว แต่ไม่เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ต้องจัดการธุรกรรมในปริมาณที่สูงมากนั้นเหมาะกับการใช้ระบบเพย์เมนต์เกตเวย์ที่มีเสถียรภาพมากกว่า

สำหรับธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่:
หน้าชำระเงินที่เชื่อมต่อกับเพย์เมนต์เกตเวย์

หน้าชำระเงินที่เชื่อมต่อกับเพย์เมนต์เกตเวย์ (hosted payment page หรือ hosted payment gateway) คือ หน้าเว็บที่ไม่ได้อยู่บนเว็บไซต์ของร้านค้า ระบบจึงต้อง redirect ลูกค้าไปที่หน้าเว็บดังกล่าว เพื่อให้ลูกค้าสามารถกรอกข้อมูลและยืนยันการชำระเงินได้

ขณะที่หน้าชำระเงินแบบ hosted payment gateway ถือเป็นบริการพื้นฐานของเพย์เมนต์เกตเวย์ทุกๆ ราย โดยจะเป็นระบบรับชำระเงินที่มีความปลอดภัยสูง และผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกของ PCI (หากคุณอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของ PCI เราขอแนะนำว่า คุณไม่ควรพลาดบทความต่อไปของเรา)

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจเทใจให้กับหน้าชำระเงินแบบ hosted payment gateway แล้ว แต่ถ้าคุณต้องการควบคุมทุกขั้นตอนที่เกิดขึ้นในหน้าเช็คเอาท์ และอยากเห็นข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า เราขอเสนอว่าการเชื่อมต่อ API น่าจะเหมาะกับธุรกิจของคุณมากกว่า

หน้าชำระเงินแบบ self-hosted

หน้าชำระเงินแบบ self-hosted ช่วยให้ลูกค้าชำระเงินบนหน้าเว็บของร้านได้ โดยไม่ต้องถูก redirect ไปที่หน้าเว็บอื่น ส่งผลให้กระบวนการชำระเงินดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกัน ร้านค้าสามารถปรับแต่งดีไซน์ และออกแบบประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าได้เองอีกด้วย

ข้อเสียของหน้าชำระเงินแบบ self-hosted คือ การขาดทีมสนับสนุนงานด้านเทคนิค ซึ่งไม่เหมือนกับการใช้หน้าชำระเงินที่เชื่อมต่อกับเพย์เมนต์เกตเวย์ ส่งผลให้ธุรกิจต้องลงมือจัดการปัญหาเชิงเทคนิคต่างๆ ด้วยตัวเอง และอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยของธุรกิจได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าขั้นตอนการติดตั้งหน้าชำระเงินจะคล้ายคลึงกัน แต่ความแตกต่างของหน้าชำระเงินแบบ self-hosted คือ ลูกค้าสามารถดำเนินการชำระเงินได้ที่หน้าเว็บไซต์ของร้านค้า โดยไม่ต้องถูกระบบ redirect ไปที่หน้าอื่น และที่สำคัญ คือ ธุรกิจของคุณจำเป็นต้องมีทีมภายในที่คอยสนับสนุนงานด้านเทคนิค เพื่อจัดการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ระบบรับชำระเงินที่เชื่อมต่อ API

ระบบรับชำระเงินที่เชื่อมต่อ API จะจัดการธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของร้านค้าโดยตรง ผ่านการเชื่อมต่อระบบด้วย API (หรือ Application Program Interface) ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างประสบการณ์ในหน้าเช็คเอาท์ รวมถึงการปรับแต่งดีไซน์ มาตรฐานความปลอดภัย และทีมสนับสนุนงานด้านเทคนิค

การเชื่อมต่อระบบด้วย API เปิดโอกาสการให้ร้านค้าสามารถสร้างสรรค์ขั้นตอนการชำระเงินได้หลากหลาย เช่น หน้าเช็คเอาท์บนมือถือ หรือพร้อมให้ปรับแต่งหน้าชำระเงินได้เต็มที่ โดยไม่ต้องคอยกังวลถึงปัญหาเชิงเทคนิคและการรั่วไหลของข้อมูล

นอกจากระบบรับชำระเงินที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีเพย์เมนต์เกตเวย์อีกหลากหลายรูปแบบ โดยคุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความของเรา

แต่ถ้ายังไม่ชัวร์ว่าธุรกิจของคุณจะเหมาะกับการใช้เพย์เมนต์เกตเวย์แบบไหนกันแน่? สามารถติดต่อสอบถาม Opn Payments เพื่อค้นหาเพย์เมนต์เกตเวย์ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณมากที่สุด

สรุปเช็กลิสต์คุณสมบัติของเพย์เมนต์เกตเวย์ที่ดี

สรุปเช็กลิสต์คุณสมบัติของเพย์เมนต์เกตเวย์ที่ดี

คุณสมบัติ 6 ข้อที่ธุรกิจควรพิจารณาให้ดี เมื่อต้องเลือกใช้เพย์เมนต์เกตเวย์ ได้แก่

1. ต้นทุน

ต้นทุนที่ธุรกิจต้องจ่ายในการใช้งานเพย์เมนต์เกตเวย์มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

  • ค่าธรรมเนียมการติดตั้ง

  • ค่าธรรมเนียมรายเดือน

  • ค่าธรรมเนียมการให้บริการ (Transaction fee)

นอกจากต้นทุนคงที่แล้ว การใช้เพย์เมนต์เกตเวย์อาจมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่มองไม่เห็นรวมอยู่ด้วย ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายของเพย์เมนต์เกตเวย์แต่ละรายให้ดี รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่างตัวเลขปริมาณและมูลค่าของธุรกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้คำนวนต้นทุนและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. มาตรการด้านความปลอดภัยและการทุจริตฉ้อโกง

มาตรฐานความปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะในการชำระเงินแต่ละครั้ง ระบบจำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลบัตรของลูกค้าไว้ ดังนั้น ธุรกิจจึงควรเลือกใช้เพย์เมนต์เกตเวย์ที่ได้การรับรองมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล PCI DSS ระดับ 1 และมีฟีเจอร์ที่ช่วยป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ความหลากหลายของช่องทางการชำระเงิน

เพย์เมนต์เกตเวย์ควรมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายให้เลือก โดยเฉพาะวิธีการชำระเงินที่ลูกค้านิยมใช้ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต อีวอลเล็ท พร้อมเพย์ และการชำระเงินผ่านคิวอาร์ เป็นต้น โดยควรมองหาเพย์เมนต์เกตเวย์ที่รองรับได้หลายสกุลเงิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต

4. ข้อจำกัด

เพย์เมนต์เกตเวย์บางรายอาจมีข้อจำกัดเรื่องมูลค่าหรือจำนวนรายการชำระเงินต่อเดือน ซึ่งอาจไม่เป็นปัญหาสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก แต่ข้อจำกัดเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีรายการชำระเงินจำนวนมาก หรือจำหน่ายสินค้ามีมูลค่าสูง

5. ระยะเวลาตรวจสอบความถูกต้องของยอดเงิน

ถึงแม้ว่าเพย์เมนต์เกตเวย์จะได้รับเงินทันทีที่มีการชำระเงิน แต่โดยปกติจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วันก่อนที่จะโอนเงินเข้าบัญชีของคุณ ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการการปฏิเสธการชำระเงินและการคืนเงินได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เพย์เมนต์เกตเวย์แต่ละรายใช้ตรวจสอบความถูกต้องของยอดเงินอาจแตกต่างกัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-7 วัน

6. การจัดทำรายงานและวิเคราะห์ข้อมูล

ฟีเจอร์นี้มีส่วนช่วยธุรกิจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยจะใช้ข้อมูลจากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า ระดับราคา และช่องทางการชำระเงินที่ลูกค้าเลือกใช้ นอกจากนั้น ยังมีจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้น ช่องทางการชำระเงินที่ใช้ และอัตราความสำเร็จในการชำระเงิน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบและนำเสนอเป็นรายงานให้กับธุรกิจ

นอกจากนั้น คุณควรพิจาณาด้วยว่าเพย์เมนต์เกตเวย์ที่ธุรกิจเลือกใช้ มีปลั๊กอินสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ระบบการออกใบแจ้งหนี้ และซอฟท์แวร์สำหรับงานด้านบัญชีอยู่หรือไม่ เพื่อช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการระบบงานหลังบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้เริ่มต้นรับชำระเงินได้เร็วขึ้นอีกด้วย

สรุปประเด็นสำคัญในการเลือกใช้เพย์เมนต์เกตเวย์

• ธุรกิจจำเป็นต้องใช้เพย์เมนต์เกตเวย์ เพื่อเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้หลากหลาย ภายใต้มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินได้อย่างสะดวกสบาย และที่สำคัญที่สุด คือ การจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจ

• ธุรกิจควรมองหาเพย์เมนต์เกตเวย์ที่มีความน่าเชื่อถือและตอบโจทย์ได้ตรงจุด โดยก่อนจะเริ่มใช้งานจริง คุณต้องทดสอบระบบจนมั่นใจได้ว่า เพย์เมนต์เกตเวย์สามารถทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ได้ เพื่อให้ขั้นตอนการชำระเงินเป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด

Opn Payments เป็นระบบรับชำระเงินออนไลน์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมบริการล่วงหน้า ไม่มีการ redirect ลูกค้าไปยังหน้าเว็บอื่น และเป็นระบบที่มีเสถียรภาพสูง รองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นพร้อมกันได้ โดยเราได้รับความไว้วางใจจากธุรกิจกว่า 6,000 รายทั่วภูมิภาคเอเชีย และได้การยอมรับว่าเป็นโซลูชันการชำระเงินที่ติดตั้งง่ายและออกแบบมาเพื่อประสบการณ์การชำระเงินแบบไร้รอยต่อ

หากคุณสนใจเริ่มต้นใช้งานเพย์เมนต์เกตเวย์ สามารถติดต่อสอบถาม เพื่อพูดคุยกับทีมงานของ Opn Payments ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง


More from Opn

เปรียบเทียบ Online Direct Debit vs โมบายแบงก์กิ้ง วิธีการชำระเงินแบบใดที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ

6 ตุลาคม 2567

เปรียบเทียบ Online Direct Debit vs โมบายแบงก์กิ้ง วิธีการชำระเงินแบบใดที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ
แนะนำ Payment Links+ โซลูชันใหม่จาก Opn Payments

29 สิงหาคม 2567

แนะนำ Payment Links+ โซลูชันใหม่จาก Opn Payments
เจาะลึกเบื้องหลังระบบเสถียรแม้ช่วงพีกกับ Director of Infrastructure ของ Opn Payments

30 กรกฎาคม 2567

เจาะลึกเบื้องหลังระบบเสถียรแม้ช่วงพีกกับ Director of Infrastructure ของ Opn Payments

Subscribe to receive the latest updates from Opn

Protected by reCAPTCHA

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อวิเคราะห์การใช้และปรับการใช้งานให้เหมาะกับท่าน เมื่อกดยอมรับหรือเข้าชมเว็บไซต์ต่อ เราถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุกกี้ของเว็บไซต์ อ่านนโยบายความเป็นส่วนตัว