Blog

Payments · 28 เมษายน 2565

เทคนิคการเลือกโมบายล์เพย์เมนต์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมช้อปปิ้งผ่านมือถือ

Payments

Mobile Checkout Experience

00_OG.png

ใครจะไปคาดคิดว่าอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กเท่าฝ่ามืออย่างสมาร์ทโฟน จะก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา เป็นทั้งนาฬิกา แผนที่ กระเป๋าเงิน หรือแม้กระทั่งย่อส่วนห้างสรรพสินค้าเอาไว้ ให้เราช้อปผ่านมือถือได้อย่างสะดวกสบาย

ยิ่งในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือยังเป็นสื่อกลางสำคัญในการชำระเงินผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะเทรนด์การชำระเงินแบบไร้การสัมผัส ทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกว่าหลายพันล้านคน สะท้อนผ่านอัตราการขยายตัวของการชำระเงินแบบไร้เงินสดทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 80% ภายในปี 2025 และเติบโตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 เท่า ภายในปี 2030

การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือช่วยให้ทำธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และได้ขยับเข้ามาแทนที่ช่องทางการรับชำระเงินแบบเดิม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ถือเป็นความท้าทายที่ส่งผลให้ในหลายอุตสาหกรรมต้องเดินหน้าตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและปรับวิธีการรับชำระเงินตามพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป

ทำความรู้จักรูปแบบการชำระเงินผ่านมือถือ

ธุรกิจสามารถเลือกใช้โฟลว์การรับชำระเงินผ่านมือถือในรูปแบบต่างๆ โดยแต่ละรูปแบบมีคุณสมบัติที่เหมาะกับโมเดลธุรกิจหรือช่องทางการชำระเงินแตกต่างกันไป

  1. หน้าเช็คเอาท์แบบไร้รอยต่อ

  2. การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดแบบ C scan B (Customer-scan-Business)

  3. การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดแบบ B scan C (Business-scan-Customer)

  4. เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของธนาคาร (Deep link)

  5. ลิงก์ชำระเงิน

การตัดสินใจเลือกรูปแบบการรับชำระเงินที่ไม่เหมาะกับธุรกิจอาจส่งผลให้ขั้นตอนการเช็คเอาท์เกิดความยุ่งยากมากกว่าเก่า ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจถึงความแตกต่างของการชำระเงินผ่านมือถือแต่ละแบบ แล้วจึงเลือกปรับใช้รูปแบบที่ตอบโจทย์โมเดลทางธุรกิจและลูกค้ามากที่สุด

มาเรียนรู้ขั้นตอนการชำระเงินผ่านมือถือในแต่ละรูปแบบ เพื่อค้นหาโซลูชันที่ใช่ สำหรับธุรกิจและองค์กรของคุณ

1. หน้าเช็คเอาท์แบบไร้รอยต่อ

รู้หรือไม่? 17% ของลูกค้าที่ช้อปออนไลน์ตัดสินใจละทิ้งรถเข็น หากพวกเขาต้องเผชิญกับขั้นตอนการชำระเงินที่ยุ่งยากหรือใช้ระยะเวลานานเกินไป ปัญหาดังกล่าวสามารถจัดการได้ด้วยหน้าเช็คเอาท์แบบไร้รอยต่อ เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพให้ขั้นตอนการชำระเงินออนไลน์ พร้อมยกระดับคุณภาพประสบการณ์สำหรับลูกค้า

โซลูชันการรับชำระเงินในปัจจุบัน มักมาพร้อมกับฟอร์มการรับชำระเงินแบบไร้รอยต่อที่ลูกค้าสามารถฝังลงบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นได้ผ่านการเชื่อมต่อ API ทำให้สามารถชำระเงินผ่านเว็บไซต์ได้โดยตรง ไม่ต้องส่งลูกค้าออกไปที่หน้าชำระเงินบนเว็บไซต์อื่น


ขั้นตอนการชำระเงิน

01_Responsive checkout form flow_TH.png

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของหน้าเช็คเอาท์แบบไร้รอยต่อ

การชำระเงินรูปแบบนี้ช่วยลดทอนความยุ่งยากที่มักเกิดขึ้นบนหน้าเช็คเอาท์แบบเดิมๆ ด้วยประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ (white-label) โซลูชันนี้ช่วยตัดขั้นตอนการสอบถามข้อมูลส่วนตัวที่อาจทำให้ลูกค้าเกิดความลังเล เช่น ข้อมูลที่อยู่อาศัย จึงช่วยลดความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและผลักดันให้ผู้ซื้อทำรายการจนสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น หน้าเช็คเอาท์ลักษณะนี้ยังมาพร้อมตัวเลือกในการจดจำบัตรสำหรับการสั่งซื้อครั้งต่อๆ ไป เพื่อให้ลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำสามารถชำระเงินได้ในคลิกเดียว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร้านค้าสามารถปรับแต่งดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งานของหน้าเช็คเอาท์ให้เหมาะกับแต่ละแบรนด์ได้ ระยะเวลาและความซับซ้อนในการเชื่อมต่อระบบย่อมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ช่องทางการชำระเงินบางประเภท เช่น อีวอลเล็ท โมบายล์แบงก์กิ้ง มักจะมีข้อกำหนดให้ลูกค้าต้องทำธุรกรรมผ่านทางแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ ดังนั้น ประสบการณ์ในการชำระเงินผ่านช่องทางเหล่านี้จึงไม่ได้ไร้รอยต่อตลอดทั้งกระบวนการ

โซลูชันนี้เหมาะกับใคร?

เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการปรับปรุงประสบการณ์หน้าเช็คเอาท์บนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซหรือแอปพลิเคชันให้เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด

เงินสดกำลังถูกแทนที่ด้วยภาพสี่เหลี่ยมรูปร่างแปลกตาบนหน้าจอมือถือ ใช่แล้ว! เรากำลังหมายถึงคิวอาร์โค้ดนั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหน จะบริษัทขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ คิวอาร์โค้ดถือเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่ขาดไม่ได้ ในประเทศไทย บริการพร้อมเพย์ก็ช่วยกระตุ้นให้พฤติกรรมการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากแม้ว่าจะผ่านช่วงวิกฤติโควิดไปแล้วก็ตาม ตอนนี้คนไทยต่างคุ้นชินกับการชำระเงินแบบการไร้การสัมผัส และชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านโมบายล์แบงก์กิ้งและอีวอลเล็ทกันบ่อยขึ้น

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าในปี 2020 มีจุดรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด พร้อมให้บริการกว่า 7.4 ล้านจุดทั่วประเทศ ไม่เพียงแค่ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าปลีกเท่านั้น แต่ยังถูกใช้งานอย่างกว้างขวาง เช่น ที่โรงพยาบาล ศูนย์กลางการคมนาคมต่างๆ โรงแรม สถานศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดได้ 2 วิธี หลักๆ ได้แก่ การให้ลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ดจากร้านค้า (Customer-scan-Business) และร้านค้าสแกนคิวอาร์โค้ดจากลูกค้า (Business-scan-Customer)

2. การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดแบบ C scan B (Customer-scan-Business)

โซลูชันแบบ C scan B เป็นขั้นตอนการชำระเงินที่ผู้ขายจะแสดงคิวอาร์โค้ดที่สร้างขึ้นมา ทั้งแบบ static หรือ dynamic ให้ลูกค้าสแกนเพื่อชำระเงินบนมือถือ การชำระเงินผ่านวิธีนี้มีขั้นตอนใกล้เคียงกับการชำระเงินด้วยเงินสด แต่ต่างกันที่ไร้การสัมผัสโดยสิ้นเชิง โดยนิยมใช้กับการชำระเงินผ่านช่องทางโมบายล์แบงก์กิ้งกับอีวอลเล็ท และยังปรับใช้ได้ทั้งกับระบบการชำระเงินแบบออฟไลน์และออนไลน์


ขั้นตอนการชำระเงิน

02_C scan B checkout flow_TH.png

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดแบบ C scan B

โซลูชันนี้ช่วยให้ร้านค้าสามารถหักยอดเงินจากบัญชีของลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ ทางฝั่งผู้ซื้อก็สามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เป็นการยกระดับคุณภาพประสบการณ์การชำระเงินของทั้งทางร้านค้าและลูกค้า

การชำระเงินแบบนี้ยังช่วยเพิ่มอัตราการทำธุรกรรมให้สำเร็จได้มากขึ้น เนื่องจากมีตัวเลือกของช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย ทำให้ผู้ขายสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีบัตรเครดิต หรือบัญชีธนาคารได้ นอกจากนั้น ร้านค้ายังปรับใช้คิวอาร์โค้ดแบบ dynamic และระบบยืนยันการชำระเงินอัตโนมัติ เพื่อลดเวลาในการชำระเงินและลดภาระต้นทุนแรงงานได้อีกด้วย

แม้การรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดแบบ C scan B จะช่วยให้การทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ราบรื่นขึ้น เมื่อนำมาปรับใช้กับร้านค้าออนไลน์ ขั้นตอนในการชำระเงินจะเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย เนื่องจาก ตามข้อกำหนดของธนาคารและผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ท ผู้ซื้อจำเป็นต้องสลับไปมาระหว่างแอปพลิเคชั่นเพื่อชำระเงิน (รวมถึงกรอกข้อมูลในการชำระเงิน หากเว็บไซต์ของคุณใช้คิวอาร์โค้ดแบบ static) ทั้งนี้ โซลูชันการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดของโอมิเซะนั้นใช้คิวอาร์โค้ดแบบ dynamic เพื่อประสบการณ์การชำระเงินที่ดีกว่า

โซลูชันนี้เหมาะกับใคร?
  • ร้านค้าออฟไลน์ที่ต้องการเพิ่มตัวเลือกการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อสร้างประสบการณ์ไร้สัมผัสรูปแบบต่างๆ เช่น บริการออเดอร์และชำระเงินล่วงหน้า จุดเช็คเอาท์ที่ตู้คีออสก์ ระบบเช็คเอาท์ด้วยตัวเอง หรือบริการแบบไดร์ฟทรู (drive-through) เป็นต้น

  • ธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์ที่ต้องการเพิ่มตัวเลือกการรับชำระเงินซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ลูกค้า เช่น โมบายล์แบงก์กิ้ง และ กระเป๋าเงินดิจิทัล

อ่านเรื่องราวการใช้งานโซลูชันรับชำระเงินแบบ C scan B

3. การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดแบบ B scan C (Business-scan-Customer)

อีกหนึ่งทางเลือกในการรับชำระเงินแบบไม่พึ่งเงินสดสำหรับร้านค้าออฟไลน์ โดยลูกค้าจะเป็นฝ่ายแสดงคิวอาร์โค้ดให้แคชเชียร์ที่ร้านเสแกนเพื่อชำระเงินตามยอดที่ทางร้านระบุ

การชำระเงินแบบ B scan C กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ควบคู่กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้งานอีวอลเล็ท เช่น TrueMoney Wallet, Rabbit LINE Pay (ประเทศไทย) และ Alipay (ประเทศจีน) ฯลฯ ร้านค้าเพียงติดตั้งเครื่องอ่านรหัสและติตดั้งระบบจัดการการชำระเงินบนเครื่องเก็บเงินหน้าร้าน (POS machine) เพื่อรับชำระเงินจากกระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ซื้อได้โดยตรง


ขั้นตอนการชำระเงิน

03_B scan C checkout flow_TH.png

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดแบบ B scan C

การชำระเงินแบบ B scan C ยกระดับประสบการณ์การชำระเงินผ่านมือถือได้เป็นอย่างดี ลูกค้าจ่ายเงินได้ง่ายๆ แค่สแกนคิวอาร์โค้ดจากสมาร์ทโฟนที่แคชเชียร์หรือตู้อัตโนมัติ ถือเป็นวิธีจ่ายเงินหน้าร้านที่สะดวกที่สุดสำหรับลูกค้าในปัจจุบัน

ในส่วนของธุรกิจ โซลูชันนี้ช่วยเพิ่มความแม่นยำและรวดเร็วในการพิสูจน์ยอดเงิน เนื่องจากพนักงานแคชเชียร์เป็นผู้คำนวณยอดชำระและสร้างรายการชำระเงิน ลูกค้าจึงไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลเอง นอกจากนั้น ข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดยังถูกบันทึกไว้ในระบบของร้านค้า ช่วยให้กระทบยอดเงินได้สะดวกขึ้น

โซลูชันนี้เหมาะกับการซื้อขายผ่านช่องทางออฟไลน์มากกว่า เพราะผู้ขายหรือตู้คีออสก์จะเป็นฝ่ายสแกนคิวอาร์โค้ดของลูกค้า การรับชำระเงินในรูปแบบนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ย่อมหมายความว่าผู้ซื้อจะต้องอัปโหลดคิวอาร์โค้ดเข้าสู่ระบบรับชำระเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความยุ่งยาก และลูกค้าอาจกังวลถึงความปลอดภัยในการชำระเงินด้วย

นอกจากนั้น ทางร้านค้ายังต้องใช้อุปกรณ์ในการสแกนคิวอาร์โค้ด อันถือเป็นการลงทุนที่มากพอสมควรโดยเฉพาะในกรณีที่ธุรกิจมีร้านค้าหลายสาขา

โซลูชันนี้เหมาะกับใคร?
  • ธุรกิจที่กำลังมองหาโซลูชันการรับชำระเงินหน้าร้าน เพื่อให้ขั้นตอนการเช็คเอาท์ง่ายขึ้น หรือดำเนินการได้แบบอัตโนมัติ

  • บริษัทที่ต้องการเพิ่มช่องทางการรับชำระเงิน เพื่อรองรับพฤติกรรมในการชำระเงินที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้า

4. เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของธนาคาร (Deep link)

เครื่องมือสำหรับสร้างประสบการณ์การชำระเงินผ่านโมบายล์แบงก์กิ้งแบบไร้รอยต่อบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซและแอปพลิเคชัน

ด้วยเทคโนโลยี Deep link (เมื่อกดที่ลิงก์ระบบจะเปิดแอปฯ หรือไปยังหน้าที่กำหนดไว้) ผู้ขายสามารถกำหนดให้ระบบส่งลูกค้าที่เลือกชำระเงินผ่านโมบายล์แบงก์กิ้ง ไปยังแอปพลิเคชั่นของธนาคารนั้นๆ และกลับมาที่หน้าเช็คเอาท์โดยอัตโนมัติทันทีที่การโอนเงินได้รับการยืนยัน ลูกค้าไม่จำเป็นต้องสลับไปมาระหว่างแอปฯ เพื่อกรอกข้อมูลการชำระเงินหรืออัปโหลดคิวอาร์โค้ดอีกต่อไป ผู้ซื้อจึงได้รับประสบการณ์ชำระเงินแบบไร้รอยต่ออย่างแท้จริง และยังปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม


ขั้นตอนการชำระเงิน

04_Apptoapp_TH_TH.gif

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของธนาคาร

การเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของธนาคารช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงลูกค้าในแต่ละประเทศได้ง่ายขึ้น ด้วยตัวเลือกการชำระเงินผ่านธนาคารในประเทศ ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการชำระเงินผ่านมือถือขึ้นไปอีกขั้น เพราะลูกค้าไม่ต้องสลับไปมาระหว่างแอปฯ หรือสแกนคิวอาร์โค้ด

ขั้นตอนการชำระเงินที่รวดเร็วขึ้น ยังส่งผลให้แนวโน้มการละทิ้งรถเข็นลดน้อยลง นอกจากนี้ การที่ข้อมูลการชำระเงินได้รับการระบุมาจากแอปพลิเคชันของร้านค้า และธุรกรรมทั้งหมดดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นธนาคารที่เชื่อถือได้ ยังช่วยเพิ่มความไว้วางใจ พร้อมสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ราบรื่นให้กับผู้ซื้อ

การใส่ deep link บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนและเวลาในการพัฒนา หากธุรกิจของคุณต้องการเชื่อมต่อกับแอปฯของธนาคารหลายแห่งก็จำเป็นต้องเชื่อมต่อระบบหลายครั้ง เนื่องจากการเชื่อมต่อกับธนาคารทำได้ทีละแห่ง อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลดภาระดังกล่าวได้โดยใช้บริการโซลูชัน deep link จากผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์

โซลูชันนี้เหมาะกับใคร?
  • แบรนด์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต้องการสร้างขั้นตอนการชำระเงินผ่านมือถือแบบไร้รอยต่อ

อ่านคู่มือการใช้งานที่เกี่ยวข้อง

5. ลิงก์ชำระเงิน

เมื่อธุรกิจออนไลน์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ในปัจจุบันธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และรายย่อยต่างหันมาสร้างแบรนด์บนโซเชียลมีเดีย เพื่อขยายฐานลูกค้าและเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ซื้อที่ต้องการ

ในปี 2021 มูลค่าของตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซคิดเป็น 28% ของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย (รวมทั้งค้าปลีกและค้าส่ง) ส่วนมูลค่ารวมจากทั่วโลกอยู่ที่ 429 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านล้านเหรียญในปี 2025 (เติบโตเร็วกว่าตลาดอีคอมเมิร์ซถึงสามเท่า)

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่ได้ถูกพัฒนามาเพื่อรับและยืนยันการชำระเงิน ปกติผู้ซื้อจะออเดอร์ผ่านทางแชทหรืออีเมล แล้วผู้ขายจึงแจ้งให้ลูกค้าชำระเงิน ซึ่งโดยปกติการชำระเงินมักเป็นการโอนเงินผ่านธนาคารเนื่องจากไม่ได้มีระบบการชำระเงินมารองรับ ทำให้ผู้ซื้ออาจกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ทั้งยังมีทางเลือกในการรับชำระเงินค่อนข้างจำกัด

ลิงค์ชำระเงินเป็นโซลูชันการรับชำระเงินสำหรับตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้ชำระเงินในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะดวกสบายกว่าเดิม ด้วยขั้นตอนการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด มีหน้าเช็คเอาท์ที่ไม่ซับซ้อน และทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัยผ่านเพย์เมนต์เกตเวย์


ขั้นตอนการชำระเงิน

05_Link-payment_TH.gif

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของลิงก์ชำระเงิน

เนื่องจากเป็นโซลูชันที่ใช้แค่ลิงก์ในการชำระเงิน ธุรกิจจึงสามารถส่งลิงก์ผ่านช่องทางไหนและเวลาใดก็ได้ พร้อมปรับใช้กับช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ที่ต้องการ ไม่จำกัดอยู่แค่โซเชียลมีเดียแต่ยังส่งผ่านข้อความ SMS หรืออีเมลได้ด้วย ปิดการขายได้จากทุกที่

นอกจากความสะดวกสบาย โซลูชันนี้ยังมีช่องทางการชำระเงินหลากหลายให้ลูกค้าเลือก เช่น การชำระผ่านบัตรเครดิต การผ่อนชำระ และปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะขั้นตอนการชำระเงินทั้งหมดจะดำเนินการผ่านเพย์เมนต์เกตเวย์ที่ได้การรับรองมาตรฐานระดับโลก ส่วนในแง่ของระบบการทำงานก็มีแดชบอร์ดหลังบ้าน ซึ่งพนักงานของร้านสามารถยืนยันการชำระเงินได้โดยง่าย พร้อมดึงข้อมูล metadata ไปใช้ในการวิเคราะห์ทางธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความปลอดภัยยังคงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักช้อปออนไลน์ หลายคนอาจยังลังเลที่จะคลิกลิงก์ โดยเฉพาะลิงก์สำหรับการจ่ายเงิน นอกจากนี้ ลิงก์ของผู้ให้บริการชำระเงินบางแห่งมีหน้าเช็คเอาท์แบบเดียวสำหรับทุกร้านค้า ไม่สามารถปรับแต่งให้เข้ากับดีไซน์หรืออัตลักษณ์ของแบรนด์ ทำให้ผู้ซื้ออาจจะรู้สึกไม่สบายใจที่จะชำระเงินผ่านผู้ให้บริการที่พวกเขาไม่คุ้นเคย

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ายกเลิกออเดอร์กลางคัน ธุรกิจควรมองหาผู้ให้บริการลิงก์รับชำระเงินที่ปรับแต่งฟอร์มหน้าเช็คเอาท์ พร้อมจัดวางโลโก้ ข้อมูลร้าน และดีไซน์โทนสีให้ตรงกับของแบรนด์ได้ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจที่จะคลิกชำระเงิน

โซลูชันนี้เหมาะกับใคร?
  • เหมาะสำหรับธุรกิจดำเนินการขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเหมาะสำหรับธุรกิจดำเนินการขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

  • แบรนด์ร้านค้าออนไลน์ที่มีชื่อเสียงและฐานแฟนผู้ติดตามจำนวนมาก และเห็นโอกาสเติบโตในตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซ



เลือกโซลูชันที่ตอบโจทย์

ณ เวลานี้ ธุรกิจส่วนมากน่าจะรับรู้ถึงความสำคัญในการพัฒนาประสบการณ์การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักและเข้าใจในความแตกต่างของการชำระเงินรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้ขั้นตอนการชำระเงินออนไลน์รูปแบบไหน บริษัทก็ต้องลงทุนทั้งเวลาและบุคลากร และแต่ละโซลูชันก็เหมาะกับธุรกิจคนละแบบ เจ้าของแบรนด์จึงควรทำความเข้าใจความต้องการของธุรกิจตนเองและลูกค้าให้มากพอก่อนตัดสินใจ

ตัวช่วยในประหยัดเวลาและทรัพยากร คือการขอรับคำปรึกษาจากผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการชำระเงินช่วยคุณเลือกโซลูชันการรับชำระเงินที่เหมาะสม และมีทีมนักพัฒนาที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิคต่างๆ

หากต้องการปรึกษาเรื่องช่องทางการชำระเงินผ่านมือถือ ติดต่อทีม Opn Payments ได้ที่ support@opn.ooo





อ้างอิงข้อมูล


More from Opn

เปรียบเทียบ Online Direct Debit vs โมบายแบงก์กิ้ง วิธีการชำระเงินแบบใดที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ

6 ตุลาคม 2567

เปรียบเทียบ Online Direct Debit vs โมบายแบงก์กิ้ง วิธีการชำระเงินแบบใดที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ
แนะนำ Payment Links+ โซลูชันใหม่จาก Opn Payments

29 สิงหาคม 2567

แนะนำ Payment Links+ โซลูชันใหม่จาก Opn Payments
เจาะลึกเบื้องหลังระบบเสถียรแม้ช่วงพีกกับ Director of Infrastructure ของ Opn Payments

30 กรกฎาคม 2567

เจาะลึกเบื้องหลังระบบเสถียรแม้ช่วงพีกกับ Director of Infrastructure ของ Opn Payments

Subscribe to receive the latest updates from Opn

Protected by reCAPTCHA

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อวิเคราะห์การใช้และปรับการใช้งานให้เหมาะกับท่าน เมื่อกดยอมรับหรือเข้าชมเว็บไซต์ต่อ เราถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุกกี้ของเว็บไซต์ อ่านนโยบายความเป็นส่วนตัว